ประเภทโซลาร์เซลล์
โซลาร์เซลล์ในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ โซลาร์เซลล์ที่ใช้สารกึ่งตัวนำซิลิคอน (Silicon Semiconductor) และโซลาร์เซลล์ที่ใช้สารกึ่งตัวนำแบบผสม (Compound Semiconductor) ทว่าประเภทที่มักจะพบเห็นกันทั่วไปและนิยมใช้กันเป็นส่วนใหญ่ คือ โซลาร์เซลล์ที่ใช้สารกึ่งตัวนำซิลิคอน ซึ่งก็จะมีแบ่งแยกย่อยเพิ่มเติมตามลักษณะได้อีก 2 แบบ คือ แบบที่อยู่ในรูปผลึก (Crystal) และแบบที่ไม่อยู่ในรูปผลึก (Amorphous) โดยโซลาร์เซลล์ที่ใช้สารกึ่งตัวนำซิลิคอนที่คนไทยนิยมใช้มีทั้งหมด 3 ชนิดหลัก ดังนี้
แผงโซลาร์เซลล์แบบผลึกเดี่ยว Monocrystalline silicon
โซลาร์เซลล์แบบผลึกเดี่ยว โมโนคริสตัลไลน์ หรือซิงเกิลคริสตัลไลน์ (Mono Crystalline/Single Crystalline) มีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัสวางเรียงกันในแนวราบคล้ายการปูกระเบื้อง โดยมีเส้นสีเงินทำหน้าที่นำกระแสไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นโซลาร์เซลล์ชนิดแรกที่ถูกสร้างขึ้น แม้จะมีราคาแพงแต่ก็มีประสิทธิภาพสูงกว่าแผงโซลาร์เซลล์ชนิดอื่น
แผงโซลาร์เซลล์แบบผลึกรวม Polycrystalline sillicon
โซลาร์เซลล์แบบผลึกรวม โพลีคริสตัลไลน์ หรือมัลติคริสตัลไลน์ (Poly Crystalline/Multi Crystalline) มีลักษณะเป็นสีน้ำเงิน พร้อมคริสตัลสีรุ้ง เป็นโซลาร์เซลล์ที่สร้างขึ้นต่อยอดจากโซลาร์เซลล์แบบผลึกเดี่ยว
แผงโซลาร์เซลล์แบบฟิล์มบาง Thin film
โซลาร์เซลล์แบบฟิล์มบางซิลิคอน (Thin film) หรืออะมอร์ฟัสซิลิคอน (Amorphous) มีลักษณะเป็นสีดำ อาจจะมีเส้นราง ๆ เป็นบางครั้ง เป็นโซลาร์เซลล์ที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไร ส่วนมากจะใช้ในฟาร์มขนาดใหญ่ หรือไม่ก็นำไปใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดเล็กต่าง ๆ เช่น เครื่องคิดเลข นาฬิกา
ส่วนโซลาร์เซลล์ที่ใช้สารกึ่งตัวนำแบบผสม หรือทำมาจากสารประกอบอื่น ๆ (Compound Semiconductor) เป็นโซลาร์เซลล์ที่ไม่ค่อยนิยมใช้ในประเทศไทย รวมถึงพื้นที่ต่าง ๆ บนโลกเท่าไร เนื่องจากโซลาร์เซลล์ประเภทนี้มีประสิทธิภาพสูงมาก อย่างน้อยก็ 25% ขึ้นไป จึงทำให้ราคาแพงเกินเอื้อม ฉะนั้นการใช้งานหลักจึงเป็นบนอวกาศ ดาวเทียม และระบบรวมแสง อีกทั้งยังเหมาะกับพื้นที่ที่มีขนาดจำกัดและมีปัญหาเรื่องการรองรับน้ำหนักด้วย